“ข้าว” วิถีชาวนาไทย

“ข้าว” ต้นธารแห่งอารยธรรมของผู้คนในแถบอุษาคเนย์ รากเหง้าของขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดโยงเราไว้กับชุมชนและความเป็นชาติ รวมทั้งยังเป็นวัฒนธรรมร่วมที่หลอมรวมประชาคมในภูมิภาค ในประเทศไทยก็เช่นกัน วิถีของข้าวเป็นตัวกำหนดวิถีของสังคม โดยวัฏจักรของข้าวจะสอดคล้องกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับวิถีชีวิต
ข้าว รากเหง้าแห่งวิถีวัฒนธรรม

เมื่อย่างเข้าเดือนหก สายฝนเริ่มโปรยปรายส่งสัญญาณให้รู้ว่าฤดูกาลแห่งการปลูกข้าวได้เวียนมาถึงแล้ว ชาวนาจะนำพันธุ์ข้าวที่เก็บไว้ออกมาเตรียมการเพาะปลูก พร้อมหน้าผู้ช่วยอย่างโคและกระบือ สหายผู้แสนดีของชาวนา แม้ในปัจจุบันจะถูกแทนที่ด้วยรถไถนาที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการไถปรับหน้าดิน พรวนดิน ซึ่งเป็นงานหลักเดิมในการใช้โคกระบือ แต่ที่ทำได้มากกว่า เช่น การหว่านปุ๋ย ตัดแพ้วถางกอไม้ต่าง ๆ เป็นรถลากอุปการณ์เครื่องมือต่างๆ หรือใช้ลากจูงผลผลิตจากแปลงเกษตรสู่ยุ้งฉาง เรื่อยไปจนถึงนำไปใช้ในการฉุดกำลังของเครื่องสูบน้ำเข้าแปลงเกษตร และอีกมากมาย รถไถนาจึงเป็นเครื่องจักรที่ถูกนำมาใช้แทนแรงงานโคกระบืออย่างไม่ต้องสงสัย นี่ยังไม่นับรวมประสิทธิภาพของรถไถนาเมื่อนำมาใช้ควบคู่กับอุปกรณ์ต่อพ่วง เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ อีกหลายแนวทาง ทั้งนี้ ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดของการใช้รถไถนา คือ เพิ่มกำลังการผลิตพืชผล ทำให้ชาวไร่ชาวนาสามารถทำงานได้มากขึ้น เร็วขึ้น และยังลดต้นทุนการทำการเกษตรได้ด้วย

กลับมาดูในมุมวัฒนธรรมการดำเนินวิถีชีวิต การทำพิธีกรรมอันเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกข้าว เช่น ในเมืองหลวงจะมีการจัดพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเพื่อเอาฤกษ์เบิกชัยตามโบราณราชประเพณี ในขณะที่ชาวนาอีสานก็จัดงานบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถนผู้บันดาลให้เกิดฟ้าฝน รวมทั้งจัดพิธีแฮกนาเพื่อบวงสรวงเทพยดาในการลงถือไถครั้งแรก ขณะที่ชาวนาภาคเหนือก็มีพิธีแฮกนาเช่นกัน และยังมีการเลี้ยงผีขุนน้ำเพื่อเซ่นบูชาผีที่รักษาต้นน้ำ ที่จริงยังมีพิธีกรรมอีกมากมายและหลากหลายซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น
ผู้คนในแต่ละภูมิภาคของไทยต่างก็มีความเชื่อที่เหมือนกันว่า “ข้าว” เป็นธัญพืชศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีเทพธิดาอารักษ์ คือ “แม่โพสพ” จึงต้องจัดให้มีพิธีกรรมเพื่อคารวะแม่โพสพ ตั้งแต่ก่อนเริ่มเพาะปลูกข้าวไปจนกระทั่งเก็บเกี่ยวขึ้นยุ้งฉาง ทุกขั้นตอนของการทำนาจะต้องมีการบอกกล่าวแม่โพสพ และเซ่นสรวงผีนา ด้วยความหวังที่จะได้เห็นผลผลิตอันอุดมสมบูรณ์

ขวัญข้าว ขวัญชีวิต

คนไทยมีความเชื่อว่าชีวิตที่สมบูรณ์ต้องประกอบขึ้นจากสองสิ่งของรูปธรรมและนามธรรม นั่นคือ กายและใจ โดยใจนั้นคนไทยเรียกว่า “ขวัญ” และหากขวัญไม่อยู่กับตัวก็อาจทำให้เกิดเจ็บไข้ได้ป่วยหรือสติฟั่นเฟือนได้ จึงต้องทำพิธีสู่ขวัญเพื่อให้มีชีวิตที่ปกติสุข โบราณเชื่อว่า ข้าวเป็นขวัญของแม่โพสพ และแม่โพสพนั้นขวัญอ่อน จะทำการใดเกี่ยวกับข้าวต้องบอกกล่าวแก่แม่โพสพ และต้องปฏิบัติด้วยความสุภาพนอบน้อม เพราะไม่เช่นนั้นแล้วอาจทำให้แม่โพสพไม่พอใจและหนีหายไป ส่งผลให้เกิดความแห้งแล้ง โรคแมลงเข้าทำลายจนพืชผลเสียหาย ทำนาไม่ได้ผล ในที่สุดก็เกิดความอดอยากยากเข็ญขึ้นได้ ในทางตรงกันข้าม หากไหว้ดีพลีถูกแม่โพสพก็จะบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้เกิดมีแก่ผืนดิน สร้างความอยู่ดีมีสุขแก่ผู้ปลูกข้าว ชาวนาจึงดูแลข้าวให้ดีเพื่อชีวิตที่มีสุข

กล่าวได้ว่า แม้ในวิถีชีวิตอันเร่งรีบของศตวรรษที่ 21 นี้ข้าวก็ยังคงความสำคัญในชีวิตของคนไทยทุกคน ทั้งในเรื่องของคติ ความเชื่อ และวิถีทางวัฒนธรรม สำหรับคนไทยแล้ว “ข้าว” มีคุณประโยชน์ยิ่งใหญ่ และมีคุณค่ามากยิ่งกว่าความเป็น ธัญพืช หรืออาหารหลักเพื่อการบริโภค คนไทยจึงปฏิบัติต่อข้าวด้วยความดีงาม ความสะอาด ตั้งแต่ยามเพาะปลูกเก็บเกี่ยว หรือแม้ยามที่นำมาหุงหาบริโภค และพร้อมที่จะส่งต่อ “คุณประโยชน์” และ ”คุณค่า” นี้ให้แก่ผู้อื่นด้วยความยินดี ดังเช่นการหยิบยื่นมิตรภาพผ่านข้าวสักมื้อโดยเชิญชวนญาติมิตรว่า “ไปกินข้าวกัน”